ประวัติวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

          วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2480 เดิมชื่อโรงเรียนช่างไม้สุราษฎร์ธานี เปิดสอนวิชาช่างไม้และช่างปูน โดยใช้วัดพระโยคเป็นที่เรียนชั่วคราว และได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน คือ บริเวณสนามบินเก่า ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2481 โดยมีครู 3 คน นักเรียน 27 คน เปิดสอนแผนกช่างไม้ชั้นต้น หลักสูตร 3 ปี โดยรับนักเรียนที่จบจาก ชั้นประถมปีที่ 4 เข้าเรียน ต่อมาได้ขยายและปรับปรุงจนถึงปัจจุบัน เนื้อที่ในปัจจุบันมี 18 ไร่ 2 งาน 9.3 ตารางวา

 

ที่ตั้ง รหัสไปรษณีย์ หมายเลขโทรศัพท์

หมายเลขโทรสาร เว็ปไซต์ และอีเมล์

  • ที่ตั้ง เลขที่ 143 ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • รหัสไปรษณีย์ 84000
  • หมายเลขโทรศัพท์ 0-7727-2168 , 0-7727-3168
  • หมายเลขโทรสาร 0-7727-2973
  • เว็ปไซต์ www.srtc.ac.th
  • อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปประจำวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

 

 

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสร้างเพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 นายอำนวย นาคทัต อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี นำมาจากวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

                             นายธีรศักดิ์ ธีรชุติมานันท์   บริจาคลงรักปิดทองทั้งองค์

                             นายเยาว์ สร้อยพานิช        ผู้ออกแบบสถานที่ตั้ง

 

 

 

 

 

ปรัชญาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

 

คิด พูด ทำ อย่างมีเหตุผล

          คิด : อย่างมีเหตุผล

          ในการดำรงชีพของมนุษย์ จะก้าวไปในทางถูกต้องสู่ความเจริญรุ่งเรือง หรือ สู่ความตกต่ำหายนะ เริ่มจากการคิด ถ้าคิดถูกย่อมเดินถูกทางไปสู่ความก้าวหน้า ถ้าคิดผิดย่อมตรงข้ามอาจเดินถอยหลังหรือเดินหน้าสู่ทางตันและอันตราย

          พูด : อย่างมีเหตุผล

          สืบเนื่องจากการคิด นำไปสู่การแสดงออก คือ มีวาจาเป็นสุภาษิต กล่าวคือ สุภาพ จริงใจ ไพเราะ พร้อมมีเมตตาและถูกต้องตามกาลเทศะ นำไปสู่ความมีสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนมนุษย์

          ทำ : อย่างมีเหตุผล

          สืบเนื่องจากการคิด อันเปรียบได้ดังหางเสือนำเรือไปสู่ทางที่ต้องการโดยไม่มีภัยอันตรายการคิด การพูด การทำ จึงมีความต่อเนื่องเป็นเหตุเป็น ผลแก่กัน บุคคลที่มีเหตุผลในการคิด การพูด การกระทำ ย่อมบรรลุจุดประสงค์สู่เป้าหมายที่ดีในชีวิตอย่างแน่นอน

สีประจำวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

น้ำเงิน ขาว

                             น้ำเงิน หมายถึง ท้องฟ้า

                             ขาว หมายถึง ความบริสุทธ์

                             ความหมายรวม : สถานศึกษาแห่งนี้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลประดุจผืนฟ้า

                                                  มีความบริสุทธิ์พร้อมทั้ง กาย วาจา ใจ

 

เพลงมาร์ชวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

          วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ดังน้องพี่เรารักกันกลมเกลียว ขาว น้ำเงิน เราร่วมเป็นหนึ่งเดียว รักกันแน่นเหนียวกลมเกลียวสามัคคี

          คิด พูด ทำ อย่างมีเหตุผล เราทุกคนยึดมั่นเต็มที่ คิด พูด ทำ เพื่อสรรค์สร้างความดี เทคนิคเรานี้ต้องมี

คุณธรรม

          * บ้านเมืองรุ่งเรืองก้าวไกล เลิศล้ำเพียงใดเป็นเพราะช่างช่วยทำ เทคนิคของเราจะเป็นแกนนำ ผลิตช่างอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาไทย

          วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี สร้างความดีเพื่อสังคมเป็น ใหญ่ พระวิษณุเป็น ที่รวมจิตใจ พวกเราทั้งหลายภูมิใจตลอดมา (ซ้ำ*)

 

กิจกรรมหน้าเสาธง

เพลงชาติ

          ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ผไทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลีเถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยไชโย

คำบูชาพระรัตนตรัย

อะระหังสัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พุธธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ

ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิก บาน

(กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

ธรรมมัง นมัสสามิ

ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม

(กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว

สังฆัง นะมามิ

ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์

(กราบ)

นักศึกษาสงบนิ่ง 1 นาที

 

คำปฏิญาณวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

          พวกเราคนไทย อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีชาติ มีศาสนา มีพระมหากษัตริย์ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้

          เราต้องสละชีพเพื่อชาติ เราต้องบำรุงศาสนา เราต้องรักษาพระมหากษัตริย์

          เรานักศึกษา จะต้องไม่กระทำตน ให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

          เรานักศึกษา จะต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของวิทยาลัยฯมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

          เรานักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คิด พูด ทำ อย่างมีเหตุผล

 

ประเพณีไหว้ครูช่าง ครอบมือช่าง

ของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

เตือนใจ บัวคลี่

          พิธีไหว้ครูและครอบมือ กระทำขึ้นในโรงเรียนการช่างสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ พ.ศ.2496 นำโดยนายช่าง

อาวุโส ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ

                   นายเชื้อ กาฬแก้ว (เสียชีวิตแล้ว)

                   คุณครูแม้น วัฒนะ (เสียชีวิตแล้ว) และ

                   คุณครูบุญฤทธิ์ พรหมแท่น (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนการช่างสุราษฎร์ธานี)

          ท่านให้ประวัติการไหว้ครูช่างว่า เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย กรุงเทพฯ ในพ.ศ.2480 เนื่องจากในปีนั้นกระทรวงธรรมการได้เรียกช่าง ครูช่างทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมอบรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เชิงวิชาการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ชาวช่างที่ได้อบรมครั้งนั้นได้ตกลงนัดหมายกำหนดวันที่ 1กุมภาพันธ์ เป็นวัน “ชาวช่าง” หรือ “วันสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีของช่างก่อสร้าง มีการพบปะกันทุกปี ค่อยๆพัฒนาจุดมุ่งหมาย จากเพื่อความสนุกสนานสามัคคี มาเป็นร่วมมือกันช่วยพัฒนาส่งเสริมอาชีพช่าง และพร้อมกันนั้นก็แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุรพจารย์ สัญลักษณ์ของบรมครูทางวิชาช่าง คือ องค์พระวิษณุกรรม

          แบบคำกล่าวไหว้ครูช่าง ซึ่งนำมาจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นของเก่าไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

เป็นร่ายยาวที่รจนาขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา จำแนกสาระออกเป็น 4 ส่วน เริ่มจากตั้งนะโม 3จบ

ตามหลักพุทธศาสนา ต่อด้วยร่ายบูชาเทพบิดรและมหาเทพ ตามความเชื่อฝ่ายพราหมณ์ แล้วลงรายละเอียดในบทไหว้ พระวิษณุกรรม ปิดท้ายด้วยการน้อมขอพรจากปวงเทพยดา ดลให้ผู้ไหว้ พ้นทุกข์ภัย พบชัยมงคลพร เป็นอันจบครบถ้วนกระบวนความ แต่ละตอนคั่นด้วยพิณพาทย์ทำเพลงต่างๆ อัญเชิญเทวดา อาทิเช่น เพลงตระสันนิบาตสำหรับเชิญพระอิศวร เพลงตระเชิญสำหรับเชิญพระอุมา เพลงแผละสำหรับเชิญพระนารายณ์ เพลงเสมอข้ามสมุทรสำหรับเชิญพระพรหม และเพลงปฐมลูกศิษย์เวสสุกรรมสำหรับเชิญพระวิษณุกรรม เป็นต้น ทั้งพิณพาทย์และบทสวดมีพลังน้อมน้าวจิตใจผู้เข้าร่วมพิธี ให้เกิดศรัทธา-ปสาทะภาคภูมิใจในวิชาที่เรียน รวมทั้งได้ความรู้เรื่องเพลงพิณพาทย์ประจำองค์เทพ ในวรรณคดี พร้อมๆ กับเป็นการทดสอบความอดทน เนื่องจากจะต้องสงบสำรวมอยู่ในพิธีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง

 

พิธีครอบมือช่าง

          นายเชื้อ กาฬแก้ว ให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีครอบมือว่า เป็นพิธีกระทำสำหรับช่างโดยเฉพาะ “ครอบมือ”เป็นอาการนามที่ต่างกับการ “ครอบ” ของฝ่ายดนตรีหรือนาฏศิลป์ กล่าวคือ พิธีครอบมือช่าง กระทำเมื่อศิษย์สำเร็จการศึกษา ส่วนครูนาฏศิลป์จะทำพิธี “ครอบ” ก่อนเริ่มประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ศิษย์ และกระทำบนศีรษะ มิใช่มือ

          จุดมุ่งหมายของการครอบมือ ประการแรก เพื่อให้ศิษย์เกิดความมั่นใจที่จะออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนครูจึงจัดให้ศิษย์เข้ามารับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษก่อนจากลา ประการที่สอง เพื่อสั่งสอนและอำนวยพรทำนองเดียวกับการ “ปัจฉิมนิเทศ” ในปัจจุบัน

          กล่าวสำหรับประการแรก ทำพิธีครอบมือเพื่อให้ศิษย์เกิดความมั่นใจนั้น นายเชื้อ กาฬแก้วเล่าว่าโบราณเขามีคาถากำกับด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อศิษย์ได้รับการเป่ากระหม่อมจากครูที่เคารพ เขาย่อมเกิดขวัญและกำลังใจนับว่าได้รับ การปั้นแต่งหล่อหลอมตามกระบวนการเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว มิมีสิ่งใดทำให้ต้องวิตกกังวลอีกต่อไป

          ส่วนอีกประการนั้น เน้นให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณของช่าง กล่าวคือ มีความกตัญญูกตเวทีต่อครูผู้ประสาทวิชาการ มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพที่เรียนมา และให้ใช้วิชาสร้างสรรค์งานอันเป็นประโยชน์แก่สังคม ไม่ล่วงละเมิดกระทบกระทั่งอาชีพอื่นใดจนเดือดร้อน นับเป็นคำสอนที่ควรแก่การตราไว้เป็นมงคลแก่ผู้ยึดถือปฏิบัติโดยตรง จากนั้นครูก็จะอำนวยพรให้ศิษย์ที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณช่างพบแต่หนทางเจริญรุ่งพุ่งขึ้นไป ไม่มีตกต่ำในทางตรงข้าม ผู้ใดอกตัญญูละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพของตน ฉ้อฉลหาประโยชน์ใส่ตัว ยังผลความเดือดร้อนต่อสังคม ขอให้ผู้นั้นถึงแก่ความเสื่อม ตกต่ำ หายนะ พบแต่ภัยพิบัติ โทมนัส อัปมงคล

          อนึ่ง ครูผู้ทำพิธีครอบมือให้แก่ศิษย์ จักต้องเป็นผู้กอปรด้วยความสุจริตทั้งกาย-วาจา-ใจ เป็นผู้มีคุณธรรมคำสอนและคำพรจึงจะมีความหมายและมีค่าควรแก่การรับ พิธีการครอบมือช่างจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่กับความดี ของผู้กระทำพิธีการ

          พิธีครอบมือช่างของเรากระทำเพื่อปลูกสร้างคุณธรรมโดยแท้

          คุณครูแม้น วัฒนะ , คุณครูบุญฤทธิ์ พรหมแท่น , คุณครูกอบกิจ บุญชิต , คุณครูมิตร ปานจินดา ครูอาวุโส ของโรงเรียนการช่างสุราษฎร์ธานีในอดีต ท่านมีวัตรปฏิบัติเป็น “ครู” ผู้ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง ทุกท่านเคยปรารภ ต่างกรรมต่างวาระแต่ใจความสอดคล้องคล้ายคลึงกันว่า พิธีครอบมือช่างถ้าทำเพียงเพื่อ“รูปแบบ” โดยไม่ชี้แจง “เนื้อหา” หรือ “เหตุผล” ของการทำแล้วไซร้ ต่อให้จัดรูปแบบยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไร้ค่าเปล่าประโยชน์ ตราบที่ผู้ครอบและผู้รับ การครอบมิได้เข้าใจจุดมุ่งหมายของการกระทำนั้น

          ถ้าเปรียบการสั่งสอน,อบรม, ฝึกฝน , ให้วิชา , ให้ความคิด แก่ศิษย์คนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นเสมือนการจัดสรรดอกไม้หลากสีหลายชนิดนำมาร้อยด้วยเส้นด้ายเปลือยเปล่าเป็นมาลัยงาม การครอบมือก็เปรียบได้กับการผูกแต่งด้วยแถบแพรสีเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนส่งให้ถึงมือผู้รับ ซึ่งย่อมประทับใจในคุณค่า เหตุเพราะมาลัยวิชาพวงนี้ พร้อมสรรพทั้งความสวยและประโยชน์ใช้สอยแน่นอน ผู้ร้อยมาลัยย่อมได้รับผล ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่เร็วก็ช้า ไม่มากก็น้อยนี่คือความเกี่ยวเนื่องระหว่างครูกับศิษย์ที่มีนัยให้ตีความในมิติที่ลึก กว้าง และไกล

บทลำนำครอบมือช่าง

ปฐมบท

                             จากเยาว์ไร้เดียงสา                  เติบโตมาเป็นดรุณ

                   ผู้ที่มีพระคุณ                                  คอยปกป้องประคองเรา

                   ศิษย์เอยสดับคำ                               พจน์ลำนำแห่งวัยเยาว์

                   ผ่านพ้นความโง่เขลา                          เหตุเพราะเจ้าได้เล่าเรียน

                   ศิษย์เอยฝีมือดี                                 นั้นอยู่ที่ความพากเพียร

                   ศิษย์เอยการอ่านเขียน                        คือก้าวแรกของชีวา

                   ศิษย์เอยคุณธรรม                             ค่าเลอล้ำเหนือโลกา

                   ที่เจ้าได้วิชา                                    เพราะมีครูประสาทศิลป

                   วิชาเป็นคู่มือ                                   ให้เจ้าถือไว้ทำกิน

                   คุณธรรมเจ้ายลยิน                           ยกนำหน้าวิชาการ

                   ศิษย์เอยครูครอบมือ                          ให้ยึดถือปณิธาน

                   ผองเจ้ามุ่งเอาภาร                            กตัญญูกตเวที

                   รำลึกอย่าสูญหาย                             เป็นเครื่องหมายของคนดี

                   เป็นช่างอย่างเมธี                              เปี่ยมสัตย์ซื่อถือคุณธรรม

                   เป็นช่างหมายสร้างชาติ                       เจ้ามุ่งมาดใส่ใจจำ

                   ฉ้อฉลกลมืดดำ                                 เจ้าเมินหนีชั่วชีวา

                   เบื้องหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์                          น้อมบูชิตแด่ครูบา

                   ถือสัตย์ปฏิญญา                              จักชูเจ้าจำเริญเรือง

ทุตยบท

อัตตาหิ อัตตโน นาโถ

                             มือสิบนิ้วนี้เป็นของเรา                        จะเอาออกใช้ทางไหน

                   ฝึกงานให้ชื่อระบือไกล                                 หรือฝึกให้แบขอรอเวลา

                                                                                      (ดนตรี)

สุวิชาโน ภวํ โหติ

                             ถ่ายพลังสายใจโยงใยจิต                      ครูจับมือศิษย์ประจันหน้า

                   โอมอำนาจอิทธิเจตน์ความเมตตา                      ประสาทประสิทธิ์วิชชาจงบันดาล

                   ให้ศิษย์รักทุกผู้จงรู้รอบ                                 รู้ผิดรู้ชอบทุกสถาน

                   ให้รักเรียน รักจำ รักทำงาน                            รู้ประหาณ หักชั่วตัวจัญไร

                                                                                      (ดนตรี)

                             นิมิตตํ สาธุ รูปานํ                             กตัญญูกตเวทิตา

                   ไหว้คุณแม่พ่อต่อชีวิต                                   บรมครูผู้ประสิทธิ์วิชาให้

                   รำลึกคุณเลิศลบทั้งภพไตร                              ลูกจะใช้สองแขนทดแทนคุณ

                             อัตตาหิ อัตตโน นาโถ                         สุวิชาโน ภวํ โหติ

                   กตัญญู กต เวทิตา

จบพิธีครอบมือ

                             หมายเหตุ        คำ : เตือนใจ บัวคลี่

                                                ดำเนินการ : จำรัส – เบญจมาศ เซ็นนิล

                                                ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 – ปัจจุบัน